วันที่ 28 มิถุนายน 2566 งานสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบลท่าไม้ ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านหนองขอนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านท่ากร่าง หัวหน้าส่วนราชการองค์การบริหารส่วนตำบลท่าไม้ พนักงานส่วนตำบล ผู้นำชุมชนและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่รณรงค์และป้องกันโรคไข้เลือดออก ออกเดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก ภายในหมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 11 ตำบลท่าไม้ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย สำรวจและกำจัดภาชนะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ได้แจกแผ่นพับ และฉีดยากำจัดแมลงทางด้านสาธารณสุข เพื่อให้ชุมชนปลอดลูกน้ำยุงลาย ประชาชนปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก ในพื้นที่รับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าไม้
โรคไข้เลือดออก
เป็นโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ยุงลายอาศัยอยู่ในบ้านและบริเวณรอบๆบ้าน มักกัดคนในเวลากลางวัน พบผู้ป่วยไข้เลือดออกได้ทุกเพศทุกวัยและทุกภาคของประเทศไทย
อาการ
มีไข้สูงลอย ประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง อาจมีจุดเล็กๆตามลำตัวแขน ขา มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายดำ และเบื่ออาหาร
การดูแลตัวเองเบื้องต้น
1. ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
2. ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวลดไข้
3. ใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกได้ง่าย
4. ให้ดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ
5. ระวังอย่าให้ยุงกัดในเวลากลางวัน ให้นอนกางมุ้ง หรือทายากันยุง
6. กำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าไม้ ขอความร่วมมือประชาชนในเขตตำบล ช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายในภาชนะที่มีน้ำขังทุกสัปดาห์ เพื่อตัดวงจรการเกิดยุงลาย ซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก โดยการรณรงค์ให้ประชาชนมีพฤติกรรมการเก็บ ๓ เก็บ คือ เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย และ ๕ ป.ปราบยุงลาย ดังนี้
เก็บ ๓ เก็บ
เก็บที่ ๑ เก็บขยะ เศษภาชนะขังน้ำแหล่งเพาะพันธ์ยุง วัสดุที่เหลือใช้นำไปขายเป็นรายได้เสริม
เก็บที่ ๒ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งยุงลายไม่เกาะพัก ขัดล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์
เก็บที่ ๓ เก็บน้ำ น้ำกินน้ำใช้เก็บให้มิดชิด โดยการปิดฝาโอ่ง ถัง ไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่
๕ ป.ปราบยุงลาย
๑. ปิด ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่
๒. เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำทุกๆ ๗ วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง
๓. ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น ปลาหางนกยูง ปลากัด ปลากระดี่
๔. ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย
๕ ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย
การกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย
1.ปิดปากภาชนะเก็บน้ำด้วยผ้า ตาข่ายไนล่อน อะลูมิเนียม หรือวัสดุอื่นที่สามารถปิดปากภาชนะเก็บน้ำนั้นได้อย่างมิดชิด จนยุงไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไปวางไข่ได้
2.หมั่นเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน ซึ่งเหมาะสำหรับภาชนะเล็กๆ ที่มีน้ำไม่มากนัก เช่น แจกันดอกไม้สด ทั้งที่เป็น
แจกันที่หิ้งบูชาพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ หรือแจกันประดับตามโต๊ะ รวมทั้งภาชนะและขวดประเภทต่างๆที่ใช้เลี้ยงต้นพลูด่าง ฯลฯ
3.ใส่ทรายในจานรองกระถางต้นไม้ ใส่ให้ลึกประมาณ 3 ใน 4 ของความลึกของจานกระถางต้นไม้นั้น เพื่อให้ทรายดูดซึมน้ำส่วนเกินจากการรดน้ำต้นไม้ไว้ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับกระถางต้นไม้ที่ใหญ่และหนัก
4. การเก็บทำลายเศษวัสดุ เช่น ขวด ไห กระป๋อง ฯลฯ และยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้ หรือคลุมให้มิดชิดเพื่อไม่ให้รองรับน้ำได้
5. บริเวณที่ปลูกต้นไม้ หากมีต้นไม้เยอะๆ ก็ทำให้มียุงเยอะ เพราะยุงจะชอบเกาะพักอยู่ในที่มืดๆ อับๆ ควรแก้ไขให้ดูโปร่งตาขึ้น ถ้าเป็นต้นไม้ประดับในบริเวณบ้าน ก็ต้องคอยสังเกตว่ารดน้ำมากไปจนมีน้ำขังอยู่ในจานรองกระถางหรือเปล่า พยายามเทน้ำทิ้งบ่อยๆ
ข่าว ณ. วันที่ 29 มิ.ย. 2566 เวลา 20.13 น. โดย คุณ ผกามาศ เกิดแดง
ผู้เข้าชม 57 ท่าน |